• Jul 17 2024 - 09:26
  • 37
  • : 1 minute(s)
รัฐบาลหนุนให้ไทยครองพื้นที่ในใจนักท่องเที่ยวมุสลิม

รัฐบาลหนุนให้ไทยครองพื้นที่ในใจนักท่องเที่ยวมุสลิม

รัฐบาลหนุนให้ไทยครองพื้นที่ในใจนักท่องเที่ยวมุสลิม ชูศักยภาพไทยหลังคว้าหลายอันดับจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวมุสลิม พร้อมดันอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ ASEAN Halal Hub

(8 ก.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลรอบด้าน ทั้งด้านอาหาร การท่องเที่ยว แฟชั่น ซอฟต์พาวเวอร์ สู่การเป็นศูนย์กลางฮาลาลในทุกมิติ พร้อมยินดีกับผลการจัดอันดับ Mastercard-Crescent Rating Global Muslim Travel Index หรือ GMTI 2024 โดย ไทยติดอันดับที่ 32 ของจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวมุสลิม และเป็นอันดับที่ 5 สำหรับกลุ่มที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม (Non-OIC) พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาแนวทางการทำงาน ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล เพิ่มกิจกรรมการท่องเที่ยวตีตลาดตามกระแสนักท่องเที่ยวมุสลิม เพื่อให้ไทยมีระดับครองใจนักท่องเที่ยวมุสลิมมากขึ้น สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ

คาดการณ์การท่องเที่ยวมุสลิมปี 67 มีแนวโน้มเติบโตสูง
    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตลาดการท่องเที่ยวมุสลิมในปี 67 มีแนวโน้มเติบโตสูง เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นประเทศที่สวยงามที่ประกอบไปด้วยชุมชนมุสลิม เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกในอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาล จึงมีความเข้าใจในวัฒนธรรม มีสภาพแวดล้อมที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม และสามารถหารับประทานอาหารฮาลาลได้ทั่วไป ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ในการมาเยือนของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม
โดย มีการคาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมระหว่างประเทศถึง 168 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนการเกิดวิกฤตโควิด - 19 ถึง 5% การเติบโตดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิม ทั้งนี้ทางหน่วยงาน Mastercard-Crescent Rating ได้จัดอันดับประเทศปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวมุสลิม Global Muslim Travel Index : GMTI 2024 โดยในปีนี้ได้จัดอันดับโดยเน้นด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก จากทั้งหมด 145 จุดหมายปลายทาง ที่นักท่องเที่ยวมุสลิมนิยมมาท่องเที่ยว โดยประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับ 32 จากการจัดอันดับทั้งหมด ซึ่งเป็นอันดับเดียวกับการจัดอันดับเมื่อปี 2023
พัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างต่อเนื่อง
    ตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของกระทรวงอุตสากรรม ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลทุกมิติ โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับมาตรฐานสินค้าฮาลาล ส่งเสริมการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งในและระหว่างประเทศ พัฒนาระบบนิเวศฮาลาล (Halal Ecosystem) การจัดทำ MOU กับกลุ่มตลาดเป้าหมาย รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) ที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาล ให้เชื่อมโยงเอกลักษณ์ซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผลักดันอุตสาหกรรมฮาลาลไทย สู่ ASEAN Halal Hub 
    ทั้งนี้ ตลาดสินค้าฮาลาลเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันตลาดสินค้าฮาลาลโลกมีมูลค่ารวมกว่า 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 ครอบคลุมสินค้าและบริการที่หลากหลาย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง แฟชั่น การท่องเที่ยว โดยกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม มีสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 63 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด สำหรับตลาดอาหารฮาลาลโลกมีมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 เท่าภายใน 5 ปี โดยมีแนวโน้มขยายตัวเร็วตามจำนวนประชากรมุสลิมโลกที่แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่ง นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมฮาลาล และมีนโยบายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลให้เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ โดยมอบกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อก. เร่งดำเนินการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย
    กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยให้มีความแข็งแกร่งอย่างรอบด้านและสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ผ่านกลไกสำคัญ ดังนี้
1.    จัดตั้ง “คณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.)” ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้มอบหมาย ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย รับผิดชอบภารกิจที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นรองประธาน พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในแวดวงฮาลาลไทย อีก 21 หน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันภายใต้การกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเชื่อมโยงเอกลักษณ์ Soft Power ของไทย รวมถึงบูรณาการแนวทาง มาตรการ แผนงาน ด้านการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ ให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลในภูมิภาค
2.    เสนอ “แนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค” ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว โดยในระยะ 1 ปีแรก หรือ Quick Win กระทรวงอุตสาหกรรมเน้นขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยใน 3 ภารกิจหลัก ได้แก่ 1) จัดตั้ง “ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย” เพื่อสร้างกลไกสนับสนุน Ecosystem ของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย 2) สร้าง “การรับรู้ถึงศักยภาพอุตสาหกรรมฮาลาลไทย” ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ผ่านงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ 3)  ผลักดัน “การส่งเสริมการค้าและขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ” ผ่านการเจรจาและจัดทำกรอบความร่วมมือ หรือ MOU ระหว่างประเทศระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลของไทย โดยประเทศเป้าหมายในระยะแรก ได้แก่ บรูไนดารุสซาราม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อให้อุตสาหกรรมฮาลาลของไทยมีความเข้มแข็งตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต พัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมและยกระดับผู้ประกอบการ และยกระดับปัจจัยแวดล้อม เช่น ตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย พัฒนาห้องปฏิบัติการ พัฒนาฝีมือแรงงานและบุคลากร จัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศอัจฉริยะ ตั้งเป้าหมาย GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.2 แรงงานเพิ่ม 100,000 คนต่อปี ก้าวสู่การเป็น ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571
ทั้งนี้ ผลสำเร็จจากนโยบายสนับสนุนการพัฒนาสินค้าฮาลาลของนายกรัฐมนตรี จะทำให้ประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวมุสลิม ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้ตอบโจทย์กระแสการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวมุสลิม

 

https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/304556

 

 

 

بانکوک تایلند

بانکوک تایلند

:

:

:

: