วิลาตัดท่านหญิงมะอ์ซูมะฮ์ / ชีวประวัติท่านหญิงมะอ์ซูมมะฮ์
ولادت حضرت فاطمه معصومه (ع)
วิลาตัดท่านหญิงมะอ์ซูมะฮ์ / ชีวประวัติท่านหญิงมะอ์ซูมมะฮ์
ชื่อของท่านหญิง คือ “ฟาติมะฮ์” และฉายานามที่เป็นที่รู้จักของท่านหญิงคือ “มะอ์ซูมะฮ์” บิดาของท่านคือท่านอิมามมูซากาซิม (อ) อิมามท่านที่เจ็ดของมุสลิมชีอะฮ์อิมามียะฮ์ มารดาของท่านหญิงมีนามว่า “นัจญมะฮ์ คอตูน” ท่านหญิงคือน้องสาวของท่านอิมามริฎอ (อ) อิมามท่านที่แปดของมุสลิมชีอะฮ์อิมามียะฮ์
ท่านหญิงฟาติมะฮ์ มะอ์ซูมะฮ์ ถือกำเนิดในวันที่หนึ่งของเดือนซุลเกาะอ์ดะฮ์ ปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 173 ในนครมะดีนะฮ์ ซึ่งหลังจากท่านหญิงถือกำเนิดได้ไม่นานท่านหญิงก็ต้องสูญเสียบิดาของท่านไปในวัยไม่กี่ขวบ ซึ่งบิดาถูกสังหารระหว่างการถูกจองจำในคุกเมืองแบกแดกประเทศอิรัก ต่อจากนั้นท่านหญิงก็ได้อยู่ในการอุปการะเลี้ยงดูจากพี่ชายของท่าน ก็คือท่านอิมามอะลีริฎอ (อ)
ในปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 200 ผู้ปกครองมะอ์มูน แห่งราชวงศ์อับบาซีย์ ได้บังคับท่านอิมามริฎอ (อ) ให้เดินทางไปยังเมืองมัรว์ ซึ่งท่านอิมามริฎอ (อ) ก็มุ่งหน้าสู่แคว้นโคราซาน และไม่อนุญาตให้คนในครอบครัวของท่านเดินทางร่วมไปกับท่านแม้แต่คนเดียว
หนึ่งปีหลังจากนั้นท่านหญิงมะอ์ซูมะฮ์ (ซ) ต้องการพบกับพี่ชายของท่าน ท่านหญิงประสงค์ที่จะออกประกาศสาส์นของอะฮ์ลุลบัยต์ตามแบบท่านหญิงซัยนับ (อ) ท่านหญิงจึงออกเดินทางร่วมกับญาติ ๆ ผู้ชายอีกไม่กี่คนไปยังเมืองโคราซาน ซึ่งตลอดทางที่ท่านหญิงได้เดินทางผ่านก็ได้รับการต้อนรับจากประชาชนอย่างอบอุ่นทุกพื้นที่
และท่านหญิงทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศสาส์นแห่งการถูกกดขี่ของพี่ชายของท่านต่อประชาชนผู้ศรัทธาเหล่านั้น ท่านหญิงได้ประกาศความชั่วร้ายของราชวงศ์อับบาซีย์ที่พวกเขาได้กระทำต่อลูกหลานอะฮ์ลุลบัยต์ (อ) เฉกเช่นการป่าวประกาศสาส์นของท่านหญิงซัยนับ (อ) ผู้เป็นย่า
ด้วยการประกาศสัจธรรมนั้นเอง เมื่อท่านหญิงได้เดินทางมาถึงยังเมือง ซาเวะฮ์ ก็ได้มีผู้ชายกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นสมุนของผู้ปกครองมะอ์มูน แห่งราชวงศ์อับบาซีย์ ผู้ตั้งตนเป็นศัตรูกับลูกหลานของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ศ) ได้ขัดขวางการเดินทางของท่านหญิง และเกิดการปะทะกันระหว่างบรรดาสมุนของมะอ์มูนและเหล่าชายชาตรีที่ร่วมเดินทางมากับท่านหญิงทันที
สุดท้ายกำลังของคนเพียงไม่กี่คนบวกความเหน็ดเหนี่อยจากการเดินทางมาหลายวัน ทำให้เหล่าชายชาตรีทีเดินทางมากับท่านหญิงมะอ์ซูมะฮ์ (ซ) ถูกสังหารทั้งหมด และได้รับฐานะการพลีชีวิตในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า ในรายงานบันทึกว่าในวันนั้นท่านหญิงถูกสมุนรับใช้พวกนั้นวางยาพิษ ยาพิษส่งผลให้ท่านหญิงมะอ์ซูมะฮ์ (ซ) ล้มป่วยลงในเวลาต่อมา และเมื่อท่านหญิงเห็นว่าท่านคงไม่มีความสามารถที่จะเดินทางต่อไปยังเมืองโคราซานได้อีกแล้ว ท่านจึงตัดสินใจมุ่งหน้าสู่เมืองกุมทันที ท่านหญิงได้ถามจากประชาชนที่นั่นว่า “จากที่นี่ (ซาเวะฮ์) ไปยังเมืองกุมมีระยะทางอีกเท่าไหร่?” ประชาชนก็ได้ตอบท่านหญิง และท่านหญิงจึงขอร้องให้พาท่านไปยังเมืองกุม เนื่องจากฉันเคยได้ยินจากบิดาของฉัน อิมามมูซากาซิม (อ) ได้กล่าวว่า “เมืองกุมคือศูนย์กลางแห่งชีอะฮ์ของเรา”
มีบันทึกว่าวันที่ 23 รอบิอุลเอาวั้ล ปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 201 อูฐของท่านหญิงได้เดินไปตามถนนเข้าสู่เมืองกุม และอูฐของท่านหญิงหยุดเดินและย่อเขาลงในสถานที่หนึ่ง (วงเวียนมีร ในปัจจุบัน) หน้าบ้านของ มูซา บินคัซรัจญ์
ท่านหญิงมะอ์ซูมะฮ์ (ซ) ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกุมเป็นเวลา 17 วัน ซึ่ง 17 วันนั้นท่านหญิงได้ปฎิบัติอิบาดะฮ์อย่างมากมายและสถานที่ซึ่งท่านหญิงได้ใช้ในการปฎิบัติอิบาดะฮ์ในวันนั้น วันนี้ถูกขนานนามว่า “บัยตุลนูร” ซึ่งได้กลายเป็นสถานที่บรรดาชีอะฮ์ได้ไปเยี่ยมเยียนเพื่อเป็นบารอกัต (สิริมงคล) ในวันนี้
วันที่ 10 รอบีอุษษานี ปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 201 ท่านหญิงก็ได้หวนกลับคืนสู่พระผู้เป็นเจ้า ประชาชนชาวเมืองกุมทั้งหมดต่างโศกเศร้าเสียใจต่อการจากไปของท่านเป็นยิ่งนัก พวกเขาได้ทำการฝังร่างของท่านหญิงไว้ในสถานที่หนึ่งซึ่งมีนามว่า “บอฆบาบิลาน” ซึ่งเป็นสถานที่ฝังที่อยู่ในปัจจุบันนี้
สถานที่ฝังศพท่านหญิง เริ่มก่อสร้างเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซึ่งภายหลังการฝังร่างอันบริสุทธิ์ของท่านหญิงฟาติมะห์ มะอ์ศูมะห์แล้ว ได้มีการทำหลังคาจากบูรยอ (คล้ายเสื่อกระจูด) และในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 9 ท่านหญิงซัยนับ บุตรีของท่านอิมามญะวาด (อ) อิหม่ามท่านที่ 9 ได้เดินทางมายังฮะรัมดังกล่าว และได้ใช้วัสดุอิฐ หิน และปูนปลาสเตอร์ ในการสร้างโดมและตัวของฮะรัมขึ้น ประวัติศาสตร์บันทึกว่าฮะรัมหลังนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาต่างๆ แต่มีความงดงามและยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงสมัยราชวงศ์ซาฟาวิด
ปัจจุบันนี้ ฮะรัมได้ถูกสร้างขึ้นอย่างสมบูรณ์ โดยมี ฎอเรี๊ยะห์ (Zarih) , โดมทอง , ห้องโถงและลานศาสนพิธี , หออาซาน และองค์ประกอบอื่น ๆ ทางสถาปัตยกรรม โดยการประดับประดาหินแกะสลักหรือหินอ่อนบนกำแพง การปูกระเบื้อง 7 สี และงานโมเสก การติดกระจกบนซุ้มโค้งประตู และงานศิลปะด้านอื่นๆ ที่แสดงถึงสถาปัตยกรรมอิสลาม เช่น งานจิตรกรรมยิปซั่ม งานแกะสลักบนเครื่องเงิน และอื่นๆ
ภายในฮะรัมท่านหญิงฟาติมะห์ มะอ์ศูมะห์ ยังมีสำนักงานเพื่อการบริหารและบริการในด้านต่างๆ แก่ประชาชนและผู้มาเยือน ฮะรัมนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และทรงเกียรติรองจากฮะรัมของท่านอิหม่ามอะลี อัรริฎอ (อ) อิมามท่านที่ 8 ผู้เป็นพี่ชาย และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมศาสนาอีกด้วย