มัสยิดอิหม่าม ณ จัตุรัส นักช์-จะฮอน (Naqsh-e Jahan Square) แห่งเมืองอิสฟาฮาน
ยุคสมัยซาฟาวิดตามประวัติศาสตร์อิหร่านถือเป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองยุคหนึ่งในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น วิชาการความรู้ , วัฒนธรรม , ศิลปะ และสถาปัตยกรรม โดยปัจจุบันสามารถพบเห็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้จากสถานที่ต่าง ๆ ในอิหร่าน เมืองอิสฟาฮานคือเมืองหลวงที่สำคัญแห่งยุคซาฟาวิด จึงทำให้กลายเป็นเมืองที่โด่ดเด่นในด้านต่าง ๆ เหล่านี้
จัตุรัส นักช์-จะฮอน เมืองอิสฟาฮาน เป็นหนึ่งในมรดกของอิหร่านที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในหมวดแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก โดยมีอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญปรากฏอยู่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือมัสยิดอิหม่าม โดยตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจตุรัส มัสยิดอิหม่ามเป็นที่รู้จักในชื่อ มัสยิดชาห์, มัสยิดญาเมี๊ยะอับบาซ และมัสยิดสุลตาน ด้วยเช่นกัน ประตูหลักของมัสยิดอิหม่ามได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม โดยจะติดกับอาคารจตุรัส นักช์-จะฮอน ส่วนประตูอื่น ๆ จะอยู่รอบอาคารมัสยิดและไม่ติดกับตัวอาคารจตุรัส
มัสยิดอิหม่ามถือได้ว่าเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์ตั้งแต่มีการก่อสร้างมัสยิดในอิหร่านเมื่อประมาณ 1 พันปีก่อน ตัวอาคารมัสยิดประกอบด้วยโดมหลักหนึ่งโดม, สองห้องโถงอเนกประสงค์, สี่ไอวาน (ซุ้มประตู (iwan)), สี่หออะซาน และสองโรงเรียนสอนศาสนา
มัสยิดอิหม่ามสร้างตามคำสั่งของชาห์อับบาสที่ 1 เมื่อประมาณ 400 ปีก่อน สถาปัตยกรรมและการตกแต่งชุดอาคารทำให้เกิดเป็นที่สะดุดตาและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หนึ่งในสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเด่นของอาคารคือ มุมองศาระหว่างประตูทางเข้าและแกนกลางของตัวมัสยิด ซึ่งประตูหลักที่เข้าสู่มัสยิดยื่นหน้าสู่จัตุรัส เพื่อให้มีความกลมกลืนและเป็นชุดเดียวกับตัวอาคารของจตุรัส (ซึ่งตัวของจตุรัสไม่ตรงกับทิศละหมาด) แต่ตัวอาคารมัสยิดจะยื่นหน้าสู่ทิศกิบละห์ (ทิศละหมาด) และนี้คือหนึ่งในงานสถาปัตยกรรมที่ทางสถาปนิกได้ปรับมุมองศางานสถาปัตยกรรมเพื่อให้เกิดความลงตัว
การประดับตกแต่งซุ้มโค้งทางเข้ามัสยิดอิหม่ามนั้นเป็นที่สะดุดตามาก โดยเฉพาะงานกระเบื้องในส่วนนี้มีความน่าทึ่งเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเข้ามาในประตูซุ้มโค้งอย่าลืมมองไปที่ด้านบนเพื่อดูความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์ของซุ้มประตูนี้ และช่องเมี๊ยะรอบ (ทิศละหมาด) ของมัสยิดอิหม่ามก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญของชุดสถาปัตยกรรมนี้
และอีกหนึ่งศิลปะที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวนั้นก็คือ แซ็ง-ออบ (โอ่งหิน) เป็นภาชนะหินที่มีขนาดใหญ่โดยใช้เก็บน้ำเพื่อทำน้ำละหมาดหรือใช้ดื่ม
เชคบะฮาอีย์ ปราชญ์แห่งยุคซาฟาวิดก็เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างชิ้นงานบางส่วนของมัสยิดอิหม่ามเช่นกัน และหินที่เป็นตัวแสดงถึงเวลาเข้าละหมาดในยามเที่ยงวันก็เป็นผลงานการคำนวณของนักปราชญ์ผู้นี้ การได้เห็นศิลปะการตกแต่งที่ละเอียดอ่อนและสมมาตรภายใต้โดมของมัสยิดอิหม่ามจะทำให้ผู้พบเห็นเกิดความประหลาดใจเป็นที่สุด