ฟาซา เมืองที่มีประชากรหนาแน่นและมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในมณฑลฟาร์ส
ฟาซา เป็นเมืองหนึ่งในมณฑลฟาร์สซึ่งมีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปถึงก่อนคริสตกาล ในจารึกและแท่นหินของเมืองเปอร์เซโปลิสมีการกล่าวถึงเมืองนี้ว่า "เปชิยา" หรือ "บาชี" คำว่า "เปชิยา" ถือเป็นชื่อที่ชาวเอลามเทียบเท่ากับ "เปซา" หลังจากที่อิสลามเข้ามาสู่อิหร่าน เนื่องจากไม่มีตัวอักษร "พ" ในคำภาษาอาหรับ ชื่อของภูมิภาคนี้จึงถูกเปลี่ยนเป็น "ฟาซา" นักภาษาศาสตร์ถือว่าความหมายของชื่อนี้หมายถึง "ถิ่นฐาน" และ "ฐานราก"
ภูมิศาสตร์ของฟาซา
เมืองฟาซาตั้งอยู่บนเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างชีราซ บันดาร์อับบาส และเกร์มาน ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางตอนใต้ของอิหร่าน ทำให้เมืองฟาซามีความสำคัญอย่างยิ่ง พื้นที่เกือบร้อยละ 40 ของเขตฟาซาเป็นพื้นที่ราบ ส่วนที่เหลือเป็นภูเขา เมืองฟาซา มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,150 เมตร และจุดที่สูงที่สุดคือยอดเขาคัรมันกุห์ ซึ่งสูง 3,220 เมตร เมืองฟาซามีประชากรมากกว่า 200,000 คน ทำให้เป็นภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดแห่งหนึ่งในมณฑลฟาร์ส ภูมิอากาศของฟาซาเป็นแบบกึ่งแห้งแล้งและอุ่น ในฤดูร้อน อุณหภูมิในภูมิภาคนี้จะสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และในฤดูหนาว อุณหภูมิที่หนาวที่สุดอยู่ที่ 8 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีในฟาซาคือ 320 มิลลิเมตร
ประวัติความเป็นมาของฟาซา
จากแหล่งข้อมูลบางแห่ง ระบุว่าเมืองฟาซาเป็นเมืองในยุคพีชดาดีดอน์ในตำนาน อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่ชัดว่าเมืองนี้เคยมีผู้อยู่อาศัยในช่วงยุคอะคีเมนิด (330 ถึง 550 ปีก่อนคริสตกาล) ปัจจุบันยังมีซากอาคารจากยุคซาซาเนียน(224 ถึง 651 ปีก่อนคริสตกาล) ในฟาซา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมืองนี้เจริญรุ่งเรืองมาหลายศตวรรษ หลังจากที่อิสลามเข้ามาถึงอิหร่าน ฟาซาถูกพิชิตโดยกองทัพมุสลิมในการต่อสู้ที่ดุเดือด ฟาซาเป็นศูนย์กลางการผลิตเหรียญกษาปณ์ในช่วงศตวรรษที่ 1 (ศตวรรษที่ 7 และ 8) ตามบันทึกของนักเดินทางในยุคหลังอิสลาม ฟาซาเป็นเมืองที่สงบสุขและมั่งคั่ง อย่างไรก็ตาม ฟาซาถูกโจมตีซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยรัฐบาลในสมัยนั้นและพังทลายลง เมืองฟาซาในปัจจุบันน่าจะสร้างขึ้นในช่วงสมัยซาฟาวิด (ค.ศ. 1501 ถึง 1736) ในช่วงสมัยอัฟชาริเยห์ ฟาซาได้ขยายตัวและค่อยๆ มีรูปร่างตามที่เห็นในปัจจุบัน
แหล่งท่องเที่ยวฟาซา
ปราสาทซาฮัก
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์แห่งนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เนินซาฮัก" ตั้งอยู่ห่างจากฟาซาไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 3 กิโลเมตรในหมู่บ้านที่ชื่อว่าคัยร์ออบอด์ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติแห่งหนึ่งของอิหร่านในปี 1931 เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับปราสาทแห่งนี้ จึงได้มีการสร้างคูน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบปราสาท ซึ่งยังคงเหลือร่องรอยให้เห็นอยู่ เนินซาฮักมีความสูงประมาณ 25 เมตร สามารถมองเห็นเครื่องปั้นดินเผาและอิฐจำนวนมากอยู่รอบๆ ชาวบ้านเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการมีอยู่ของถ้ำยาวที่ทอดยาวไปจนถึงสถานที่ที่เรียกว่า "ครัวซาฮัก" และเมื่อเสิร์ฟอาหาร ผู้คนจำนวนมากจะยืนรวมกันอยู่ภายในถ้ำและยื่นอาหารต่อๆกันเพื่อส่งไปที่ปราสาท! อาคารโบราณที่ชื่อว่า "ครัวซาฮัก" ตั้งอยู่ห่างจากปราสาทซาฮักไปไม่กี่กิโลเมตร และสร้างขึ้นเกือบจะในเวลาเดียวกันกับปราสาทซาฮัก
อิมามซอเดห์แห่งชาห์ซอเดห์กอเซ็ม
อิมามซอเดห์แห่งนี้ เป็นสถานที่ฝังร่างของบุรุษผู้หนึ่งนามว่า กอเซ็ม ซึ่งเป็นลูกหลานของอากีล พี่ชายของท่านอาลี อิบนิ อบีฏอลิบ อิมามท่านแรกของสายธารชีอะฮ์ และถือเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของภูมิภาค
เขตอนุรักษ์มิยอน์แญ็งกัล
พื้นที่นี้ตั้งอยู่บนเนินเขาทางตอนเหนือของภูเขามิยอน์แญ็งกัล ห่างจากฟาซาไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 50 กิโลเมตร และอยู่ริมถนนสายหลักจากเมืองชีราซไปยังเมืองเกร์มาน ต้นไม้หนาทึบในพื้นที่นี้โดดเด่นสวยงามทั้งสองข้างถนน พื้นที่บางส่วนของมิยอน์แญ็งกัลเคยถูกใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
คัร์มันกุห์
ภูเขานี้ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของฟาซา มีแหล่งน้ำพุที่สวยงามและเป็นที่ต้อนรับของกลุ่มนักท่องเที่ยวธรรมชาติและนักปีนเขาหลายกลุ่มในทุกๆ ปี ที่ความสูง 400 เมตรจากเชิงเขามีถ้ำที่สวยงาม ในเชิงเขานี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ชื่อว่า "ออทัชกาเดห์" ซึ่งมีน้ำพุและทะเลสาบเพาะเลี้ยงปลา เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวธรรมชาติ
พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมฟาซา
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีวัตถุล้ำค่ามากกว่า 7,000 ชิ้น โดยส่วนใหญ่วัตถุเหล่านี้ได้รับบริจาคจากประชาชนทั่วไป มีห้องจัดแสดง 8 ห้อง ได้แก่ ห้องเทคโนโลยี โบราณคดี ประวัติศาสตร์ นักเขียนและคนดังจากฟาซา มานุษยวิทยา หินและฟอสซิล สวนต้นไม้ และห้องจัดแสดงที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อจัดแสดงวัตถุต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมฟาซาตั้งอยู่ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย มอนเดกอร์ มูฮัมหมัดตะกี ซุลก็อดร์ (ก่อตั้งในปี 1938) บนพื้นที่ 4,000 ตารางเมตร
ฟาซา เมืองที่มีประชากรหนาแน่นและมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในมณฑลฟาร์ส | |
ฟาร์ส | |
ฟาซา | |
Registration | No registration |