หัตถกรรมไม้อิหร่าน
หัตถกรรมไม้อิหร่าน
หัตถกรรมในกลุ่มศิลปะชนิดนี้จะใช้ไม้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ตัวอย่างศิลปะดังกล่าว อาทิเช่น งานแกะสลักไม้ คอตัมกอรี, โมอัรรักกอรี, คะรอตี (งานกลึงไม้), เกเระจีนี (ไม่ทรงเรขาคณิต) และการผลิตเครื่องใช้จากไม้ เป็นต้น หนึ่งในคุณสมบัติหลักของศิลปะเหล่านี้คือการใช้งานได้จริงพร้อมกับให้ความเพลิดเพลินและแสดงถึงความสง่างาม โดยแต่ละสาขาจะเป็นงานศิลปะเดียวหรือผสมผสานกับศิลปะสาขาอื่น ๆ ในการผลิตเพื่อการนำเสนอถึงวัตถุดิบและศิลปหัตถกรรมที่หลากหลายก็ได้ ต่อไปนี้จะขอแนะนำศิลปะการแกะสลักไม้ที่ละเอียดอ่อนและสวยงามที่สุดชนิดหนึ่งซึ่งได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกด้วยซึ่งมีชื่อเรียกว่า มุนับบัต ซูซะนี ออบอเดะห์ (งานแกะสลักไม้)
อธิบายคุณลักษณะพิเศษของ มุนับบัตกอรี (แกะสลักไม้) ในอิหร่าน
มุนับบัต มีรากศัพท์มาจากคำว่า นะบาต ในภาษาอาหรับซึ่งมีความหมายว่า พืชพันธุ์ คำว่า มุนับบัต หมายถึง การขุดหรือเจาะไม้ (แกะสลักไม้) กรรมวิธีมุนับบัตจึงเรียกว่าเป็นการแกะสลักบนผิวของไม้เพื่อให้ได้ลายนูนตามแบบที่ต้องการ ชนิดของไม้ที่นำมาแกะสลัก เช่น ไม้วอทนัท ไม้แพร์ ไม้ตะโก ไม้พุทรา เป็นต้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของงานและรูปแบบของการแกะสลักและการใช้งานของไม้ประเภทต่าง ๆ ด้วย ทุกวันนี้ศิลปินได้สร้างวิธีการใหม่ ๆ ในงานไม้โดยผสมผสานกับศิลปะไม้อื่น ๆ เข้าด้วยกัน เช่น แกะสลักกับการประดับมุก, แกะสลักกับการฉลุ เป็นต้น อุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในงานชนิดนี้คือ ค้อน, สิ่วแกะสลักไม้, แคลมป์, เลื่อย และตะไบไม้ เป็นต้น ไม้แกะสลักแบ่งออกเป็นสามประเภทตามความละเอียดอ่อนของเครื่องมือที่ใช้ นั้นคือ การใช้สิ่ว การใช้มีด และการใช้เข็ม (สิ่วปลายแหลม (ผู้แปล)) งานแกะสลักที่มีดีไซน์ล้ำสมัยและสร้างสรรค์มากเท่าไรมูลค่างานก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย กล่าวได้ว่ายิ่งงานแกะสลักมีลวดลายและการออกแบบที่แตกต่างไปจากงานแกะสลักทั่วไปเท่าไรความสำคัญและมูลค่าของงานยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปด้วย แต่ทิศทาง มุมองศา และลวดลายของงานแกะสลักนี้ก็ต้องทำอย่างมีหลักการและถูกต้องด้วยเช่นเดียวกัน
ความเป็นมาของมุนับบัตกอรี (แกะสลักไม้) ในอิหร่าน
ศิลปะมุนับบัตเป็นหนึ่งในศิลปะงานฝีมือของอิหร่านที่มีประวัติความเป็นมายาวนานประมาณ 1,500 ปีที่ก่อนในบางภูมิภาคของอิหร่าน ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฎถึงที่มาของมุนับบัตซูซะนี (สิ่วปลายแหลม) จากจังหวัดฟาร์สเมืองอาบอเดะห์ จึงเป็นไปได้ว่าความเป็นมาของมุนับบัตกอรีเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อมนุษย์เริ่มมีการเหลาไม้ โดยประตูไม้แกะสลักที่เก่าแก่ที่สุดได้รับการเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์อักบารออบอด (อักบาราบัด)ในอินเดีย ซึ่งประตูนี้เป็นของวังของสุลต่านมาห์มูดสร้างโดยศิลปินชาวชีราซในยุคนั้นและส่งต่อไปยังอินเดีย
ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดเกี่ยวกับงานไม้แกะสลักในช่วงสมัยก่อนการมาของอิสลาม แต่งานไม้แกะสลักได้ถูกค้นพบในยุคสมัยอิสลามดังที่ปรากฎตามศาสนสถานต่าง ๆ ซึ่งในสมัยตีมูร์ศิลปะมุนับบัตกอรียังคงรูปแบบและวิธีการแกะสลักเหมือนกับยุคก่อนหน้า แต่ในสมัยซาฟาวิดงานแกะสลักไม้ได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์และนำไปสู่การสร้างสรรค์ชิ้นงานเอกขึ้นเหมือนกับศิลปะอื่น ๆ ของอิหร่าน ดังตัวอย่างประตูมัสยิดเมืองฮิศฟาฮานที่สร้างขึ้นในยุคซาฟาวิดและยังคงใช้งานได้จนถึงปัจจุบัน และงานอื่น ๆ เช่น ประตูโรงเรียนชาห์สุลตานหุเซน เป็นต้น ปัจจุบันงานแกะสลักไม้ยังคงพบเห็นได้ทั่วไปในเมืองต่าง ๆ ของอิหร่านและมีศิลปินมากมายที่สนใจและขะมักเขม้นในงานศิลปะสาขานี้
วิธีและขั้นตอนการทำมุนับบัตกอรี
การคัดลอกลวดลายงานแกะสลักบนเนื้อไม้สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
1- การคัดลอกลวดลายโดยคาร์บอน วิธีนี้ขั้นแรกนำคาร์บอนวางบนไม้ หลังจากนั้นนำลวดลายที่จะแกะสลักวางไว้บนคาร์บอนแล้วใช้ดินสอวาดตามลวดลายที่วางไว้เบา ๆ เมื่อวาดแบบเสร็จให้เอาแบบลวดลายและคาร์บอนออก ก็จะปรากฏลวดลายตามแบบที่วาดขึ้นบนเนื้อไม้ วิธีนี้จะนำมาใช้มากในงานมุนับบัตกอรี
2- การวาดลวดลายบนเนื้อไม้โดยตรง วิธีนี้จะอาศัยความชำนาญของศิลปินเป็นพิเศษเพราะจะต้องวาดลวดลายไปบนเนื้อไม้โดยตรง ถือเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและต้องการช่างที่ชำนาญด้วย
3- การคัดลอกลวดลายโดยการก็อปปี้ โดยนำแบบที่ได้จากการก็อปปี้ติดไปบนไม้สำหรับแกะสลัก แล้วจึงเริ่มการแกะสลักได้เลย เป็นวิธีที่ใช้เวลาน้อยที่สุดแต่ชิ้นงานโดยส่วนมากจะไม่ค่อยละเอียด
4- การคัดลอกลวดลายโดยใช้เข็มหมุด วิธีนี้เริ่มต้นโดยการวาดแบบลงบนกระดาษจากนั้นใช้เข็มหมุดเจาะเป็นจุด ๆ บนเส้นของลวดลายแล้วนำไปวางบนเนื้อไม้ จากนั้นนำเขม่าใส่ในถุงบางแล้ววางบนจุดต่าง ๆ ของแบบที่เตรียมไว้ เข่มาก็จะติดบนเนื้อไม้ตามรูที่เจาะและออกมาเป็นแบบลวดลายที่วาด วิธีนี้ใช้เวลามากและลวดลายที่ได้ก็ไม่คงทนจึงไม่นิยมนำมาใช้กัน
5- การคัดลอกลวดลายโดยใช้น้ำมันทากระดาษ วิธีนี้โดยการขึ้นลวดลายบนกระดาษที่ใช้เย็บผ้าจากนั้นนำไปแช่ในน้ำมันพืช แล้วนำแบบลวดลายมาวางบนเนื้อไม้และใช้ดินสอวาดลวดลายจนเกิดบนเนื้อไม้ วิธีนี้เป็นวิธีที่นำมาใช้มากที่สุดเช่นกัน
ลวดลายต่าง ๆ ของมุนับบัตกอรี
โดยทั่วไปแล้วการแกะสลักไม้ทำได้สองวิธี หนึ่งคือการแกะสลักโดยสิ่ว และสองคือการแกะสลักโดยเครื่องแกะสลักไฟฟ้า การแกะสลักด้วยเครื่องส่วนมากจะเป็นงานด้านเรขาคณิตโดยจะมีความลึกของงานมากกว่าต้นแบบจริง (เหมือนกับการแกะสลักหิน) จะให้รูปแบบที่เป็นทรงสี่เหลี่ยมหรือสามเหลี่ยมหรือเส้นตรงที่ชัดเจน งานแกะสลักในรูปแบบนี้จะมีมากในอิหร่านและงานแกะสลักที่มีลวดลายนูนมากก็จะมีความดึงดูดมากเช่นกัน ลวดลายงานแกะสลักที่ใช้มากในอิหร่านได้แก่ ลายใบหน้า ลายดอกไม้ ลายนก ลายอาหรับ ลายใบไม้ ลายสัตว์ และลายอื่น ๆ เป็นต้น
มุนับบัต-อาบาเดห์ เมืองชีราซเป็นงานแกะสลักที่ขึ้นชื่อของโลก
กรกฎาคม 2018 สภาหัตถกรรมโลกได้จดทะเบียนเมืองอาบาเดห์ให้เป็นเมืองแกะสลักโลก เมืองอาบาเดห์อยู่ห่างจากเมืองชีราซไปทางตอนเหนือ 274 กม. มีสถานที่ทำงานด้านแกะสลัก 150 สถานที่ (ทั้งที่เป็นบ้านและโรงงาน) โดยมีช่างแกะสลักไม้มากกว่าห้าพันคน เมืองอาบาเดห์ได้รับรางวัลจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ด้านงานแกะสลักไม้ในปี 2014 ในฐานะศูนย์กลางการแกะสลักไม้ของโลกอีกด้วย
เจ้าหน้าที่ระหว่างประเทศชื่นชมงานแกะสลักเมืองอาบาเดห์-ชีราซ
ฆอเดะห์ ฮัยจาวี ประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสภาหัตถกรรมโลก ได้เยี่ยมชมการแกะสลักของเมืองอาบาเดห์ในวันที่ 1 และ 2 ตุลาคม 2018 โดยกล่าวว่า “ฉันเห็นศิลปะสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์งานหัตถกรรมในเมืองอาบาเดห์มากมาย แต่งานแกะสลักกลับทำให้ฉันรู้จักเมืองนี้ชัดเจนขึ้น”
“ฉันเห็นงานแกะสลักอยู่ทุกมุมของเมืองนี้ที่กำลังถูกผลิตขึ้น แม้แต่เด็ก ๆ ของเมืองนี้ก็คุ้นเคยกับศิลปะนี้ ชาวอาบาเดห์รักในสิ่งที่พวกเขาทำและถือเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง เมื่อเห็นพวกเขาเหล่านี้ฉันตระหนักได้ว่าพวกเขาค้นพบตัวเองในงานที่พวกเขาทำ และมีความรู้สึกสงบและพึงพอใจในสิ่งนั้น”
ประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสภาหัตถกรรมโลกกล่าวต่อว่า “อิหร่านเป็นประเทศเดียวในโลกที่ส่งรายงานมุนับบัตซูซะนี (การแกะสลักเข็ม) ให้กับสภาหัตถกรรมโลก และมันแสดงให้เห็นว่าทางการได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งการสนับสนุนและช่วยเหลือศิลปะและศิลปิน”
ยูชา คารีชนอ ที่ปรึกษาประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสภาหัตถกรรมโลก ได้กล่าวยกย่องบุคลากรด้านหัตถกรรมของเมืองอาบาเดห์ว่า “เมืองนี้มีศิลปินอยู่มากมายแม้กระทั้งผู้มีอายุน้อย ที่ต่างก็สร้างสรรค์ผลงานที่เรียกว่ามุนับบัต ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าทึ่งและไม่เหมือนใคร”
ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่า งานมุนับบัตซูซะนีเมืองอาบาเดห์เป็นศิลปะหนึ่งที่ถูกรู้จักมากที่สุดของโลก เนื่องจากมีความละเอียดอ่อนในขั้นตอนการผลิต และใช้การออกแบบดั้งเดิมที่ไม่เหมือนงานอื่น ๆ ทั้งด้านคุณภาพและประสิทธิภาพที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง
หัตถกรรมไม้อิหร่าน | |