ศูนย์วัฒนธรรมสถานทูตอิหร่าน
ศิลปะการแกะสลักโลหะ

ศิลปะการแกะสลักโลหะ

ศิลปะการแกะสลักโลหะ
การแกะสลักเป็นหนึ่งในงานหัตถกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในอิหร่านโดยเฉพาะงานแกะสลักในกลุ่มโลหะ การแกะสลักเป็นศิลปะการตกแต่งและการเจาะรูปแบบต่าง ๆ บนวัตถุที่เป็นโลหะ โดยเฉพาะทองแดง ทอง เงิน และทองเหลือง โดยการใช้สิ่วปากกาและค้อน
ความเป็นมาของงานแกะสลักโลหะในอิหร่าน
งานแกะสลักนั้นมีความเชื่อมโยงไปยังชาวไซเธียนหรือไซต์ที่มีเชื้อสายอารยันสมัยก่อน โถทองคำฮะซันลู (Golden bowl of Hasanlu) เป็นโถทองคำที่เก่าแก่ถูกค้นพบในปี 1957 โดยมีลายนูนของรูปเทพเจ้าต่าง ๆ ขณะขี่รถม้าซึ่งมีอายุย้อนไปถึงสหัสวรรษแรกก่อนคริสต์ศักราช โถทองคำมารลีค (Marlik) ก็เป็นหนึ่งในผลงานแกะสลักโลหะในยุคดังกล่าวเช่นกัน
จากการที่อาณาจักรมีเดียเข้ามามีอำนาจในอิหร่านในศตวรรษที่เจ็ดก่อนคริสต์ศักราช ทำให้ชิ้นงานแกะสลักโลหะหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่ชิ้น
ภายหลังการก่อตั้งการปกครองของจักรวรรดิอะคีเมนิด ทำให้ศิลปะการแกะสลักเปลี่ยนไปและมีอิทธิพลในยุคต่อมา ยุคดังกล่าวถือเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของศิลปะโลหะ แต่เนื่องจากการโจมตีของอเล็กซานเดอร์และการเผาเมืองเพอร์เซโพลิสทำให้ชิ้นงานจำนวนมากถูกทำลายและถูกนำไปหลอมเป็นเหรียญตามคำสั่งของอเล็กซานเดอร์
ในยุคจักรวรรดิซาเซเนียนปี ค.ศ. 224 ถึง 650 เนื่องด้วยการขยายตัวทางการค้าระหว่างอิหร่าน กรีซ และโรม ทำให้ศิลปะของอิหร่านได้รับอิทธิพลจากศิลปะกรีกและโรมันด้วย เครื่องใช้ที่พบบ่อยที่สุดในยุคนี้คือถาดที่มีภาพการล่าสัตว์และพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พิธีมอบของขวัญ ที่ชาวซัสซานิดแกะสลักไว้
ศิลปะการแกะสลักโลหะยุคหลังอิสลามในอิหร่าน
ในช่วงต้นศตวรรษของอิสลาม ชาวอาหรับได้เลียนแบบศิลปะการแกะสลกของยุคซาเซเนียน และในศตวรรษต่อมาศิลปินชาวอิหร่านที่มีความสนใจต่อศาสนาอิสลามและได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อของอิสลาม ทำให้ลวดลายการออกแบบดั้งเดิมและลวดลายตามตำนานของอิหร่านค่อย ๆ หายไป และนำลวดลายการออกแบบทางศาสนาอิสลาม เช่น ลวดลายเส้นอีกษรกูฟี อายะห์อัลกุรอาน และหะดีษเข้ามาแทนที่
จานเงินยุคซาเซเนียน
ในยุคเซลจุก ศิลปะการแกะสลักก็ยังคงเหมือนกับศิลปะด้านอื่น ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนและขยายออกไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทำให้เกิดการสร้างลวดลายเกลียวในการตกแต่งรอบภาชนะเครื่องใช้ขึ้น ผลงานที่สวยงามที่สุดในยุคนี้คือ มุชับบัก-กอรี (งานเจาะและแกะสลักบนโลหะ) ภาชนะในยุคเซลจุกส่วนใหญ่มีคุณลักษณะสองประการคือ การประดิษฐ์ลายเส้นที่สวยงาม และการใช้ตัวอักษรกูฟีย์ในการแกะสลัก
การใช้อักษรวิจิตรในการแกะสลักโลหะได้แพร่ขยายอย่างกว้างขวางในสมัยของมองโกลและมีเครื่องใช้มากมายถูกผลิตและตกแต่งด้วยงานศิลปะชนิดนี้ และผลจากการรุกรานของตีมูร์ที่มีต่ออิหร่านทำให้เมืองฮารัตกลับคืนสู่ความเจริญทางศิลปะอีกครั้งหนึ่งและกลายเป็นศูนย์กลางใหญ่ทางศิลปะในยุคนั้นจนทำให้ศิลปะการแกะสลักโลหะส่องประกายมากขึ้นในเมืองนี้
การปั๊มเครื่องเงินบนโลหะได้รับความรุ่งเรืองและมีความสมบูรณ์แบบมากที่สุดในยุคสมัยซาฟาวิด ในยุคดังกล่าวคนโทน้ำและจานชามหลายประเภทที่แกะสลักโลหะได้กลายเป็นจารีตประเพณี และยุคสมัยซาฟาวิดการปิดทองโดยใช้ลวดลายอิสลามก็ยังได้รับความนิยมเป็นพิเศษ นอกจากนี้ในยุคดังกล่าวยังมีการนำแบบอักษรนัสตะอ์ลีกและษุลุษมาใช้ในการแกะสลักด้วย
ประเภทของรูปแบบการแกะสลัก
การแกะสลักโลหะของอิหร่านจะขึ้นอยู่กับชนิดของโลหะที่ใช้และรูปแบบที่ต้องการ ซึ่งจะมีรูปแบบเฉพาะที่แตกต่างกันไป ได้แก่ แกะสลักลายนูน แกะสลักกึ่งลายนูน แกะสลักลายละเอียด และแกะสลักแบบเจาะ เป็นต้น ซึ่งแต่ละแบบจะถูกสร้างจากกรรมวิธีและเทคนิคที่เฉพาะโดยจะให้ความสวยงามและการใช้งานที่เป็นเอกลักษณ์ของชิ้นงานนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น ในวิธีการแกะสลักแบบเจาะ หลังจากการแกะสลักเสร็จแล้วจะใช้เลื่อยฉลุโลหะกับทักษะและเทคนิคพิเศษแยกส่วนที่ไม่ต้องการออกจากงานแกะสลักตามตัวแบบที่ต้องการ วิธีนี้ส่วนมากจะใช้กับการผลิตเครื่องใช้ เช่น ตะเกียง โคมไฟที่มีลวดลายมาก ๆ ซึ่งผลิตจากทองแดงและทองเหลือง กระถางธูป และแจกัน เป็นต้น และสำคัญที่สุดในการใช้วิธีการนี้คือการนำศิลปะแกะสลักโลหะและงานเจาะมาใช้ในการตกแต่งศาสนสถานและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ
ผลิตภัณฑ์โลหะส่วนใหญ่ที่ผลิตในอิหร่านในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาส่วนใหญ่ทำมาจากทองแดง ซึ่งส่วนมากจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ผลิตขึ้นเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันโดยปราศจากการตกแต่งใด ๆ และองค์ประกอบหลักที่แสดงให้เห็นถึงความงดงามคือรูปทรงของตัวผลิตภัณฑ์เอง ภาชนะที่เป็นทองแดงจะให้คุณค่ามากเมื่อนำมาแสดงหรือโชว์เพราะเป็นที่สนใจแก่ช่างฝีมือ ช่างศิลป์ และช่างแกะสลัก นั้นเอง
อิสฟาฮานคือศูนย์กลางสำคัญของศิลปะแกะสลักโลหะมาโดยตลอดทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยในปัจจุบันเวิร์กช็อปหัตถกรรมที่มีจำนวนมากที่สุดในอิสฟาฮานคือเวิร์กช็อปการแกะสลักทองแดงและทองเหลือง และมีผู้คนทำอาชีพในสาขานี้มีมากกว่าสาขาอื่น ๆ ด้วย
วิธีการผลิต
การแกะสลักโลหะในปัจจุบันนี้ ขั้นแรกจะใส่ยางมะตอยเหลวหรือปูนปลาสเตอร์ไว้ภายในหรือใต้ภาชนะที่ต้องการจะแกะสลัก เพื่อไม่ให้มีเสียงดังและป้องกันไม่ให้ภาชนะถูกเจาะหรือเป็นรูเมื่อขณะทำการแกะสลัก จากนั้นวาดลวดลายที่ต้องการบนภาชนะและเลือกสิ่วที่เหมาะสมกับชิ้นงานโลหะโดยวางสิ่วลงบนพื้นผิวของภาชนะแล้วใช้ค้อนตอกหนักเบาตามแบบที่วาดจนเกิดเป็นร่องและลวดลาย เมื่อได้ลวดลายตามแบบแล้วให้นำยางมะตอยเหลวหรือปูนปลาสเตอร์ออก แล้วใช้ผงถ่านเทไปบนร่องหรือลวดลายที่ได้และใช้นำมันเคลือบสีดำทาทับอีกที ด้วยกับขั้นตอนดังกล่าวจะทำให้ลวดลายที่ได้รับการแกะสลักแล้วเป็นเส้นทึบสีดำและมองเห็นชัดเจนขึ้น
ลวดลายต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการแกะสลักในปัจจุบันนั้นมีความหลากหลายและลวดลายที่ได้รับความนิยมที่สุด ได้แก่ :
ลวดลายมุชับบัก (ตาข่าย) ซึ่งเป็นลวดลายของการแกะสลักโลหะประเภทหนึ่งอยู่แล้ว ลวดลายอิสลาม ลวดลายคะตออี ลวดลายดอกไม้ ลวดลายโบเตะห์ ลวดลายมัสยิดเชคลุตฟุลลอฮ์ ลวดลายมุนับบัต ลวดลายสัตว์ และอื่น ๆ ซึ่งการออกแบบลวดลายเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพวาดพื้นบ้านหรือแบบดั้งเดิมนั้นเอง
ปัจจุบันนอกจากอิสฟาฮานซึ่งเป็นศูนย์กลางหลักของงานศิลปะชนิดนี้แล้ว ในจังหวัดอื่น ๆ ของอิหร่านก็ยังมีนักศิลปะสาขานี้กำลังทำงานอยู่เช่นกัน เช่น เตหะราน ชีราซ ตาบริซ เคอร์มันชาห์ และอื่น ๆ
ตัวอย่างศิลปะการแกะสลักโลหะของอิหร่านคือ ถ้วยใบใหญ่พร้อมขาตั้งทองแดง ซึ่งตั้งอยู่ที่ทางเข้าองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO ในสวิตเซอร์แลนด์
ส่วนต่อไปขอเชิญชมวิดีโอแสดงขั้นตอนของงานศิลปะชนิดนี้ และตัวอย่างงานแกะสลักของชาวอิหร่านจากโบราณจนถึงยุคร่วมสมัย
ศิลปะการแกะสลักโลหะ

องค์กรวัฒนธรรมและการสื่อสารอิสลามเป็นหนึ่งในองค์กรของอิหร่านที่สังกัดกระทรวงวัฒนธรรมและแนวทางอิสลาม และก่อตั้งขึ้นในปี 2538[ดูเพิ่มเติม]

:

:

:

: